วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แผ่นพับ...โลกร้อน!!




E – Learning กับการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้อีเลิร์นนิ่งนับเป็นวิถีทางอย่างหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอน เป็นการใช้วิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในสังคมและเศรษฐกิจแห่งความรู้
การเรียนแบบอีเลิร์นนิ่ง เป็นการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต (Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน เนื้อหาของบทเรียนประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อ สื่อสารที่ทันสมัย จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคน เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่
การใช้ อีเลิร์นนิ่งในการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยนั้น ยังเป็นเรื่องใหม่และเป็นภาระแก่ผู้สอนในการนำไปใช้ เนื่องจากผู้สอนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และยังมีปัญหาด้านวิธีการประยุกต์ใช้ว่าจะสามารถประยุกต์ระบบอีเลิร์นนิ่งในการสอนอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันระบบ อีเลิร์นนิ่งมักถูกใช้เป็นที่เก็บเอกสารประกอบการสอน หรือเป็นที่เก็บวีดีโอการสอน หรือเนื้อหาของรายวิชานั้น และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนในการเข้ามาอ่านและดาวน์โหลดเนื้อหาไปศึกษา การประยุกต์ใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งในสถานศึกษานั้นควรเน้นที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่าเน้นที่เทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงการนำระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้นั้น ผู้สอนควรเน้นวิธีการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากขึ้นกว่าการท่องจำ โดยทั่วไปการสร้างหลักสูตรการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งจะสร้างตามแนวความคิดของผู้สอน และเมื่อนำมาใช้จะพบว่าบทเรียนที่สร้างนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกกลุ่ม เนื่องจากผู้เรียนเลือกที่จะรับรู้เนื้อหาตามแนวทางของตนเอง ผู้สอนจำเป็นจะต้องควบคุม แนะนำ หรือกระตุ้นให้ผู้เรียนศึกษาและเรียนรู้ตามแนวทางที่ผู้สอนตั้งไว้
การเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งนั้นมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดในตัวของมัน อีเลิร์นนิ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนร่วมกัน การเสริมแรงในการเรียนรู้เนื้อหา การเข้าถึงข้อมูลทั่วโลก การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน การเรียนรู้อย่างมีปฎิสัมพันธ์ การเรียนรู้เนื้อหาที่นำเสนอในลักษณะมัลติมีเดีย เป็นการเรียนทางไกลที่ไร้ระยะทาง อีเลิร์นนิ่งช่วยทำให้ผู้สอนและผู้เรียนเป็นอิสระจากปัญหาเวลาที่ใช้ในการจัดการเรียน สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนนั้นเมื่อมีความสะดวก ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมการเรียนของตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามก้าวจังหวะของตนเอง ช่วยในการปรับเปลี่ยนบทบาทผู้สอนจากผู้บอกและถ่ายทอดมาเป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวก ในขณะที่ผู้เรียนมีบทบาทเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าและสำรวจข้อมูลในลักษณะการเรียนรู้ร่วมกันและมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นผู้เรียนที่ลงมือปฏิบัติไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอรับข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว
การเรียนรู้โดยใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งนั้น ผู้เรียนและผู้สอนจะต้องมีเครื่องมือที่สามารถโต้ตอบกันได้ตลอดเวลา โดยจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต อีกทั้งประสิทธิภาพของระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้จะต้องมีประสิทธิภาพสูง ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพต่ำ การค้นคว้าหาข้อมูลทำได้ช้า ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้เรียนบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ก็อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ได้เช่นกัน
อีเลิร์นนิ่ง เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะค้นคว้าตามแนวทางที่ตนเองต้องการ การเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งให้ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้สอนเองจะต้องมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบทันควันให้กับผู้เรียน เพื่อทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง และจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดการแสดงความคิดเห็น แต่อย่างไรก็ตามผู้เรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเอง มีวินัยและมีการวางแผนระบบการเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตของตนเอง จึงทำให้อีเลิร์นนิ่งเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

ภาพสวยด้วยกระดาษทิชชู

เตรียมอุปกรณ์ดังนี้นะคะ
1. กระดาษทิชชู
2. กาว
3. น้ำ
4. สีโปสเตอร์
5. ไม้เสียบลูกชิ้น
6. ชาม
7. รูปภาพ
8. กรอบรูป
ในการเตรียมของก็หมดแค่นี้ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการทำกันเลย GO...!!
ขั้นตอนที่ 1
เทน้ำลงในภาชนะที่เตรียมไว้
ขั้นตอนที่ 2
ฉีกกระดาษทิชชูเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในภาชนะ
ขั้นตอนที่ 3
ขยำกระดาษทิชชูในน้ำให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 4 บีบน้ำออกจากกระดาษทิชชู
ขั้นตอนที่ 5 นำกระดาษทิชชูที่ได้มาใส่ในภาชนะอีกใบ
ขั้นตอนที่ 6 เทกาวผสมกับกระดาษทิชชู
ขั้นตอนที่ 7 ขยำกระดาษทิชชูกับกาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 8 หลังจากนั้นจะได้กระดาษทิชชูที่ผสมกับกาวเรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 9 แบ่งกระดาษทิชชูพอประมาณ นำมาผสมกับสีโปสเตอร์
ขั้นตอนที่ 10 ขยำกระดาษทิชชูกับสีให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 11 นำกระดาษทิชชูที่ได้ ใส่ไว้ในถุงพลาสติกหรือภาชนะที่มีฝาปิด
ขั้นตอนที่ 12 ปิดปากถุงให้มิดชิดเพื่อไม่ให้อากาศเข้า (สามารถเก็บไว้ได้นาน)
ขั้นตอนที่ 13 เตรียมรูปภาพที่จะทำการปะติดกระดาษทิชชู
ขั้นตอนที่ 14 ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นตักกระดาษทิชชูมาวางบนภาพตรงส่วนที่เราต้องการ
ขั้นตอนที่ 15 ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นตกแต่งภาพโดยการจิ้มกระดาษทิชชูซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้ผิวที่ขรุขระ
ขั้นตอนที่ 16 รอให้ภาพแห้ง
ขั้นตอนที่ 17 นำภาพไปใส่กรอบให้สวยงาม
เย้ ๆ แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำแล้ว
ลองทำกันดูนะคะ